หน้าหลัก » ประเพณีและวัฒนธรรม » ประเพณีไหลเรือไฟ

ประเพณีไหลเรือไฟ


ประเพณีไหลเรือไฟ เป็นประเพณีที่ชาวนครพนมภาคภูมิใจ เพราะบรรพบุรุษได้ยึดถือกันมานานตั้งแต่โบราณ โดยมีความเชื่อในประเพณีว่าเนื่องมาจากการบูชารอบพระพุทธบาท การสักการะท้าวพกาพรหม การบวงสรวงพระธาตุจุฬามณีและการระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา การขอฝนการเอาไฟเผาความทุกข์ และการบูชาพระพุทธเจ้า

ประวัติความเป็นมา
เรือไฟ หรือ เฮือไฟ หมายถึง เรือที่ทำด้วยท่อนกล้วย ไม้ไผ่ หรือวัสดุที่ลอยน้ำ มีโครงสร้างเป็นรูปต่างๆ ตามต้องการอยู่ส่วนบนของวัสดุที่ลอยน้ำ เมื่อจุดไฟใส่โครงสร้าง เปลวไฟจะลุกเป็นรูปร่างตามโครงสร้างนั้น

ประเพณีการไหลเรือไฟบางทีเรียกว่า “ล่องเรือไฟ” “ลอยเรือไฟ” หรือ “ปล่อยเรือไฟ” ซึ่งเป็นลักษณะที่เรือไฟเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ เรือไฟ หรือ เฮือไฟ หมายถึง เรือที่ทำด้วยท่อนกล้วย ไม้ไผ่ หรือ วัสดุที่ลอยน้ำโครงสร้างเป็นรูปต่าง ๆ ตามต้องการ เมื่อจุดไฟใส่โครงสร้าง เปลวไฟจะลุกเป็นรูปร่าง ตามโครงสร้างนั้น งานประเพณีไหลเรือไฟนิยมปฏิบัติกันในเทศกาลออกพรรษา ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑

ในด้านความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาทที่ประทับไว้ริมฝั่งแม่น้ำ นัมมทานทีในแคว้นทักษิณาบท ประเทศอินเดียนั้น เชื่อว่า ในครั้งที่ พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรม ในพิภพของนาค เมื่อเสด็จกลับพญานาคได้ทูลขอให้พระองค์ประทับรอยพระบาทไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที พระองค์จึงได้ประทับรอยพระบาทไว้ตามความประสงค์ของพญานาค รอยพระบาทที่ทรงประทับไว้นี้เป็นที่เคารพของเทวดา มนุษย์ ตลอดจนถึงสัตว์ทั้งหลายผู้ซึ่งต้องการบุญกุศล เหตุนี้ การไหลเรือไฟจึงถือว่า เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งมีคำบูชาว่า

“อะหัง อิมินา ปะทีเปนะ นัมมทายะ นะททิยา ปุลิเน ปาทะวะอัญชัง อภิปูเชมิ อะยัง ปะทีเปนะ มุนิโน ปาทะวะอัญชัง ปูชา มัยหัง ทีฆรัตตัง หิ ตายะ สุขายะ สังวัตคะตุ”

แปลว่า ข้าพเจ้าขอน้อมบูชารอยพระบาทของพระมุนีเจ้า อันประดิษฐานอยู่ ณ หาดทรายแห่งแม่น้ำนัมมทานทีโพ้นด้วยประทีปนี้ ขอให้การบูชารอยพระบาทสมเด็จพระมุนีเจ้าด้วยประทีปในครั้งนี้ จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนานเทอญ

ด้านความเชื่อในการสักการะท้าวพกาพรหม
เป็นความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาวิญญาณของบรรพบุรุษ โดยมีนิทานชาวบ้านเล่าว่า ครั้งหนึ่ง มีกาเผือกสองตัวผัวเมีย ทำรังอยู่บนต้นไม้ป่าหิมพานต์ใกล้ฝั่งแม่น้ำ วันหนึ่งกาตัวผู้บินจากรังไปหากิน เผอิญหลงทางกลับรังไม่ได้ก็บินหายไป กาตัวเมียซึ่งกำลังกกไข่อยู่ ๕ ฟอง คอยผัวไม่เห็นกลับก็กระวนกระวายใจ จนอยู่มาวันหนึ่ง เกิดพายุใหญ่พัดรังกาพัง ฟองไข่ก็ตกลงไปในน้ำ ส่วนแม่กาถูกน้ำพัดไปทางหนึ่ง ครั้งลมสงบ แม่กากลับมารังไม่เห็นฟองไข่ก็เสียใจ ร้องไห้จนขาดใจตาย แล้วไปเกิดใหม่ บนพรหมโลก ชื่อ ท้าวพกาพรหม ส่วนไข่ทั้ง ๕ ฟอง ถูกลมพัดลอยไปตามแม่น้ำ และถูกคลื่นซัดขึ้นตลิ่งแต่ไม่แตกและไม่ได้อยู่ในที่เดียวกัน ครั้นแล้วฟองไข่ทั้ง ๕ นี้ก็มีผู้นำไปรักษาไว้ คือ ฟองที่ ๑ แม่ไก่เอาไป ฟองที่ ๒ แม่นาคเอาไป ฟองที่ ๓ แม่เต่าเอาไป ฟองที่ ๔ แม่โคเอาไป ส่วนฟองที่ ๕ แม่ราชสีห์เอาไป ครั้งฟองไข่ทั้ง ๕ ถึงกำหนดฟักแตกออกก็ไม่เป็นลูกกา แต่เป็นมนุษย์ ครั้งเติบโตขึ้นและเห็นโทษของความเป็นฆราวาสและเห็นอานิสงส์แห่งบรรพชา จึงลามารดาเลี้ยงออกบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่งฤาษีทั้ง ๕ ได้พบกัน จึงไต่ถามเรื่องราวของกันและกัน ฤาษีทั้ง ๕ จึงพร้อมใจกันตั้งสัตย์อธิษฐานว่า ถ้าต่อไปจะได้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ขอให้ร้อนไปถึงมารดา ด้วยแรงอธิษฐาน จึงร้อนไปถึงท้าวพกาพรหม ท้าวพกาพรหมเสด็จจากพรหมโลก จำแลงองค์เป็นกาเผือกบินมาเกาะบนต้นไม้ตรงหน้าฤาษีทั้ง ๕ แล้วเล่าเรื่องเดิมให้ฟัง แล้วกล่าวต่อไปว่า “ถ้าคิดถึงมารดา เมื่อวันเพ็ญเดือน ๑๑ และเดือน ๑๒ ให้เอาด้ายดิบผูกไม้เป็นตีนกา ปักธูปเทียนบูชา ลอยกระทงในแม่น้ำเถิด ทำอย่างนี้เรียกว่า “คิดถึงมารดา” บอกเสร็จ ท้าวพกาพรหมก็ลากลับไป ตั้งแต่นั้นมาประชาชนก็พากันลอยกระทง ไหลเรือไฟ เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม

ด้านความเชื่อเกี่ยวกับการบวงสรวงพระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์
ตามพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช ได้ทรงตัดพระเกศแล้วโยนขึ้นไปในอากาศ พระอินทร์ได้นำเอาผอบมารับไปบรรจุไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์ จะได้อานิสงส์ไปเกิดร่วมพระศาสนากับพระศรีอริยะเมตไตย

ด้านความเชื่อเกี่ยวกับการขอฝน
เชื่อว่า การไหลเรือไฟจะทำให้ฝนในปีต่อไปดี เพราะการไหลเรือไฟเป็นการปล่อยไฟลงในแม่น้ำ ทำให้พญานาคที่อยู่ในน้ำได้รับความร้อนแล้วหอบน้ำหนีขึ้นไปอยู่บนฟ้า พอถึงเดือน ๖ น้ำในโลกมนุษย์จะแห้ง ผู้คนเดือดร้อน จึงพากันจุดบั้งไฟขึ้นไป พญาแถนจะสั่งให้พญานาคนำน้ำที่หอบขึ้นมา ไปคืนให้โลกมนุษย์ โดยตกลงมาเป็นฝน

ด้านความเชื่อในการเอาไฟเผาความทุกข์
เชื่อว่า เมื่อชาวบ้านมีเรื่องเดือดร้อนเกิดขึ้น จะมีการบูชาไฟ แล้วเอาไฟเผาความทุกข์นั้นให้ลอยไปตามน้ำ และน้ำจะพาเอาความทุกข์ที่ถูกเผานั้นให้จากไปได้ การไหลเรือไฟจึงเป็นส่วนหนึ่งของการบูชาไฟด้วย

ด้านความเชื่อเกี่ยวกับการขอขมาและระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา
เชื่อว่า การรู้จักบุญคุณ และการตอบแทนคุณ เป็นเครื่องหมายของคนดี การไหลเรือไฟ กระทำเพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณของน้ำ ซึ่งมีประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เพราะเราได้อาศัยน้ำ จากพระแม่คงคา ทั้งกินทั้งใช้มาตลอดปี ยิ่งกว่านั้นยังถ่ายสิ่งปฏิกูลลงไปในน้ำด้วย เท่ากับขาดความคารวะแม่คงคา จึงสมควรขอขมาลาโทษต่อท่าน

ด้านความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระพุทธเจ้า
มีตำนานเล่าขานกันว่า เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าที่เสด็จกลับลงมาสู่มนุษยโลก หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงธรรมเทศนาโปรดพุทธมารดา เมื่อออกพรรษาแล้ว พระองค์ก็เสด็จกลับลงมาสู่มนุษยโลก โดยบันไดทิพย์ทั้ง ๓ คือ บันไดทอง อยู่เบื้องขวาเป็นที่ลงแห่งเหล่าเทพยดา บันไดเงิน เบื้องซ้ายเป็นที่ลงแห่งหมู่พรหม และบันไดแก้ว ตรงกลาง เป็นทางเสด็จของพระพุทธเจ้า หัวบันไดอยู่ยอดเขาพระสิเนรุราช เชิงบันไดอยู่เมืองสังกัสสะนคร ทรงแสดงโลกนิวรณ์ปฏิหาริย์ คือ เปิดโลกโดยทอดพระเนตรไปเบื้องบนถึงพรหมโลก เบื้องต่ำถึงอเวจีนรก ทำให้ทิศต่าง ๆ ทั้ง ๘ ทิศ ในโลกธาตุแห่งหมื่นจักรวาล แลเห็นเป็นลานอันเดียวกัน จึงเรียกวันนี้ว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” มนุษย์ทั้งหลายได้รับเสด็จด้วยเครื่องสักการะมโหฬาร

ข้อมูล : กลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม

 






 

แชร์ :
( 986 View )

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

รายการอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ประเพณีและวัฒนธรรม