ที่ตั้ง
วัดหัวเวียงรังษีตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
เป็นวัดที่เก่าแก่ เป็นร่องรอยของศิลปะล้านช้าง ภายในวัดมีสิม(พระอุโบสถ) ก่ออิฐถือปูนหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง หน้าบันและบัวหัวเสาตกแต่งด้วยงานปูนปั้นระบายสี สร้างขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 2460 – 2464 มีร่องรอยฮูปแต้ม(จิตรกรรมฝาผนัง) ทั้งภายนอกและภายใน โดยภาพในอุโบสถมีฮูปแต้มเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ทศชาติ และรามเกียรติ์ ที่เขียนโดยหลวงชาญอักษร อาจารย์คูณ และอาจารย์ลี ( ไพโรจน์ สโมสร, จิตรกรรมฝาผนังอีสาน, 2532 : 120) ใช้เทคนิคสีฝุ่น โดยรวมคล้ายกับเป็นงานวาดเส้น ซึ่งมีความประณีตละเอียดอ่อน เพราะเส้นมีขนาดเล็กมาก และเป็นการใช้สีที่มีอยู่อย่างจำกัด ได้แก่ สีคราม สีแดง สีเขียว สีดำ หากสังเกตเรื่องราวจากภาพวาดจะพบว่าช่างเขียนได้สอดแทรกการรับเอาวัฒนธรรมจากตะวันตกมาใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ผ่านภาพเขียนเครื่องแต่งกายของทหารและยังแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ร่วมของคนในชุมชนสมัยนั้นที่มีต่อผู้ล่าอาณานิคมชาวฝรั่งเศส รวมถึงวิถีชีวิตของคนในยุคสมัยนั้น ที่ควรค่าแก่การรักษาเพื่อการศึกษารากเหง้าความเป็นมาของวัฒนธรรม ส่วนภายนอกอาคารมีประติมากรรมนูนต่ำบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ
ประวัติ
บริเวณที่ตั้งของวัดหัวเวียงรังษีน่าจะเป็นที่ตั้งของวัดมาช้านาน สำหรับตัวอุโบสถในปัจจุบันนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างทับวัดเก่าระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๔๖๔ สมัยเดียวกับที่มีการปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุพนมเพราะอิฐที่ใช้ก่อสร้างสิม (อุโบสถ) เป็นรุ่นเดียวกับพระธาตุพนม ส่วนภาพจิตรกรรมคาดว่าน่าจะเขียนประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๔๖๔ โดยภาพบนผนังด้านในเป็นฝีมือหลวงชาญอักษรซึ่งเป็นช่างจากกรุงเทพฯ ถือเป็นจิตรกรรมสกุลช่างหลวง ส่วนด้านนอกเป็นฝีมือช่างท้องถิ่นโดยมีพระอธิการอินทร์เป็นผู้ร่างภาพแล้วให้จารย์คูณเขียนสี
ที่ตั้งภาพจิตรกรรม: อุโบสถ ด้านในเขียนไว้บริเวณเหนือหน้าต่างทั้ง ๔ ด้าน ส่วนด้านนอกมีที่ผนังด้านหลังและในซุ้มเหนือประตูและหน้าต่าง
เนื้อหา:
ผนังด้านในมีเรื่องพุทธประวัติ ทศชาติและรามเกียรติ์
ส่วนด้านนอก มีภาพพุทธประวัติฉากประสูติและปรินิพพานบนผนังด้านหลัง ส่วนในซุ้มโค้งเหนือประตูหน้าต่าง ช่างได้วาดรูปเล็กๆ ของเทวดา กินนร กินรี ฯลฯ แทรกไว้
ติดตามข้อมูลข่าวสารของวัดได้ที่ https://www.facebook.com/profile.php?id=100066339405232
แผนที่และการเดินทาง
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook